เตรียมตัวเตรียมใจ! วิเคราะห์สถานการณ์หลัง Lazada เป็นของ Alibaba


ทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นเรื่องใหญ่ (มาก) และอย่าเพิ่งรีบสรุปว่า:

..ธุรกิจเล็กๆของฉัน ไม่ได้รับผลกระทบ
..พอร์ทหุ้นที่ฉันถืออยู่ ไม่เกี่ยว
..ฉันเป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่เกี่ยว
..ฉันเป็นผู้บริโภค ได้ซื้อของถูก

โลกอาจไม่ได้สวยอย่างนั้นครับ เพราะอะไร:


Lazada เป็นใคร?

Lazada เป็นเว็บอีคอมเมอร์ซขนาดใหญ่มีธุรกิจใน 6 ประเทศคือ ไทย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ก่อตั้งโดยบริษัทที่ชื่อว่า Rocket Internet เป็นบริษัทที่ลงทุนด้านอินเตอร์เน็ตของเยอรมัน บริษัท Rocket Internet เก่งเรื่องการนำเอาโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศตะวันตก มาปรับใช้กับประเทศที่กำลังพัฒนา

อย่าง Lazada นี่ก็ก๊อปมาจาก Amazon ของอเมริกา แล้วมาปรับให้เหมาะกับประเทศแถบนี้ เช่นให้มีบริการ Cash on Delivery คือจ่ายเงินตอนรับของ ซึ่งสำคัญอย่างมากในประเทศโซนนี้ เพราะอัตราการถือบัตรเครดิตและการใช้บัตรเครดิตบนอินเตอร์เน็ตต่ำ

ทุ่มตลาด และดันให้ supplier สู้กัน

โมเดลทางธุรกิจหลักๆของธุรกิจ "online market place ขนาดใหญ่" ทั่วโลกจะคล้ายๆกัน คือ เริ่มจากขายเอง และค่อยๆเปลี่ยนมาเป็นคนกลางซื้อขาย (Market Place) โดยในช่วงแรกจะทำการ "ทุ่มตลาด" ด้วยการทำโปรโมชั่นหนักๆจนสามารถขายของได้ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด การทำเช่นนี้แม้ธุรกิจในช่วงแรกจะขาดทุน แต่ก็ทำให้กวาดลูกค้ามาได้หลายร้อยล้านคนทั่วภูมิภาคอาเซียนในเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปี!

ธุรกิจ "online market place ขนาดใหญ่" จะพยายามให้ supplier ที่ขายสินค้าเหมือนๆกัน เข้ามาทำสงครามแข่งตัดราคากันอย่างดุเดือด ระบบตัวแทนจำหน่ายตามภูมิภาคแบบเดิมที่เป็นการป้องกันการแข่งขัน เมื่อเปลี่ยนผ่านเป็นระบบการค้าสมัยใหม่ ก็จะไม่มีเขตแดนของตนเองอีกต่อไป

สินค้าจีนจะไหลทะลัก

หลังจากที่ Alibaba กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของลาซาด้า ซึ่งตรงกับนโยบายของ แจ๊ค หม่า ที่ต้องการให้สินค้าจีนขายทั่วโลกให้ได้มากที่สุด สินค้าหลายอย่างของจีนที่ผลิตมาเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อขายทั่วโลก ได้เปรียบเรื่อง Economy of Scale เป็นอย่างมาก ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตจาก SME ของไทยมาก

การหลั่งไหลเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีนผ่านช่องทางออนไลน์ขนาดยักษ์นี้ อาจทำให้ SME ของไทยหลายเจ้าล้มหายตายจากไปจากเศรษฐกิจไทย และสินค้าบางตัวอาจถูกนำมาขายโดยไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ด้วยซ้ำ!


ผู้บริโภคได้ประโยชน์ จริงหรือ?

แน่นอนว่าในระยะสั้น การทุ่มตลาดจะทำให้ผู้บริโภคซื้อของได้ในราคาถูก แต่ในระยะยาวเมื่อผู้ประกอบการ e-commerce เจ้าอื่นหรือร้านค้าปลีกรายย่อยล้มหายตายจากไป อะไรจะเป็นหลักประกันว่าผู้ชนะสงครามจะยังคงกดราคาต่อไป ในเมื่อคู่แข่งก็หมดแรงแล้ว?

ตัวอย่างในอดีต: ธุรกิจจองโรงแรมผ่านอินเตอร์เน็ต

ตัวอย่างในอดีตก็เคยมีให้เห็น เช่น ธุรกิจจองโรงแรมผ่านอินเตอร์เน็ต (Hotel Booking) ขนาดใหญ่จากต่างชาติ ที่ในช่วงแรกยอมทุ่มตลาดในไทยเพื่อกวาดลูกค้าให้มาใช้บริการเยอะๆ

เมื่อสามารถยึดส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) จนไม่มีคู่แข่งรายใหญ่อื่นๆเหลืออยู่ การจัดโปรโมชั่นเพื่อลดราคาก็ค่อยๆหายไป จนปัจจุบันก็สามารถหักค่าคอมมิชชั่นจากโรงแรมเฉลี่ยสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าที่พัก โดยที่โรงแรมทั้งรายใหญ่และรายเล็กแทบไม่มีอำนาจในการต่อรองใดๆ ส่วนผู้เข้าพักโรงแรมปัจจุบันก็ไม่ได้รับส่วนลดอะไรพิเศษบ่อยๆ เพราะ ธุรกิจจองโรงแรมผ่านอินเตอร์เน็ต มักมีเงื่อนไขห้ามไม่ให้โรงแรมลดราคาห้องต่ำกว่าที่โฆษณาผ่านตน


อนาคตจะเกิดอะไรขึ้น?

ลองนึกต่อว่า ถ้าวันหนึ่งในอนาคต ธุรกิจ online market place ขนาดใหญ่...

..ขายอาหารสำเร็จรูป ด้วยการทุ่มราคา
..ขายผลไม้สดส่งถึงบ้าน ด้วยการทุ่มราคา
..ขายประกันออนไลน์ ด้วยการทุ่มราคา
..ขายบริการสินเชื่อขนาดย่อม ด้วยการทุ่มราคา
..ขายตั๋วเข้าสวนสนุก ด้วยการทุ่มราคา
หรือแม้กระทั่ง..ขายคูปองร้านนวดไทยแผนโบราณ ด้วยการทุ่มราคา!

มันจะไม่ใช่แค่ธุรกิจค้าปลีก หรือ SME ที่ล้มนะครับ ร้านเล็กร้านน้อยที่ให้บริการอยู่ตามหัวซอยท้ายซอยก็อาจติดบ่วงไปด้วย

วันนี้แม้ธุรกิจ market place ขนาดยักษ์จะยังไม่ได้ขยายไปถึงจุดนั้น .... แต่มีหลักประกันอะไรว่าวันหนึ่งจะไม่ทำ?

ห้ามนั่งหลับ!

เมื่อโดมิโน่ล้ม 1 ตัว มันจะเริ่มล้มแผ่ไปเรื่อยๆ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะซักวันหนึ่งมันอาจล้มมาถึงธุรกิจของคุณได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือพนักงานเงินเดือนก็ตาม

ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว "การทุ่มตลาด" เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ในประเทศไทยและหลายประเทศในอาเซียน กฎหมายป้องกันการทุ่มตลาด ไม่ได้มีการบังคับใช้จริงจังอะไร

นอกจาก SME ไทยต้องรีบทิ้งห่างด้วยการพัฒนานวัตกรรมให้เร็วๆๆแล้ว... ก็อยากจะฝากไว้ถึงหน่วยงานรัฐเช่นกันว่า อย่านั่งหลับ! แม้แต่ประเทศที่มีการค้าเสรีสุดโต่งอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ยังมีกฎหมายเรื่องการทุ่มตลาด ทั้ง Anti-Dumping และ Anti-Trust ใช้กันอย่างเข้มงวดมาก


การแข่งขันเป็นสิ่งที่ดีครับ ทำให้เราเก่งขึ้น
การได้ใช้สินค้าราคาถูก ก็เป็นสิ่งที่ดีครับ ช่วยเราประหยัด

..แต่กติกาต้องได้มาตราฐานสากลครับ

ที่มา : stock2morrow
เตรียมตัวเตรียมใจ! วิเคราะห์สถานการณ์หลัง Lazada เป็นของ Alibaba เตรียมตัวเตรียมใจ! วิเคราะห์สถานการณ์หลัง Lazada เป็นของ Alibaba Reviewed by boss on 15:57 Rating: 5
ขับเคลื่อนโดย Blogger.