เปิดหมดเปลือก! ชีวิตหลังทำธุรกิจเซเว่น-อีเลฟเว่น
เป้าหมายชีวิตของทุกคน ย่อมต้องการความมั่นคง อนาคตที่แน่นอน รายได้คุ้มค่ากับการลงทุน ทว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้เช่นนี้ และบางคนที่ทำได้ ก็ ไม่ใช่เพราะ... “โชคดี”
คุณจุมพล พลพละวัฒน์ - ปอ (คนซ้าย) และ คุณณัฎฐา พลพละวัฒน์ - ฐา (คนขวา)
ความมั่นคงในชีวิตจากธุรกิจส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องของโชค หากแต่เป็นเพราะคนที่ประสบความสำเร็จเหล่านั้น รู้จักเลือกในสิ่งที่ถูกต้อง ตัดสินใจเริ่มต้นในธุรกิจที่มีความมั่นคง ใส่ใจดูแลธุรกิจด้วยตนเอง และแน่นอนว่าต้องฝึกปรือตัวเองจนเชี่ยวชาญในธุรกิจที่ตนเองเลือก ที่จะลงมือทำ ดูแลทุกรายละเอียด อุดช่องว่างข้อบกพร่อง หมั่นพัฒนาสินค้าและบริการ ปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน และรักษามาตรฐานเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ นี่ต่างหากคือกุญแจในความสำเร็จเชิงธุรกิจ อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของเศรษฐสถานะของเจ้าของธุรกิจได้
เช่นเดียวกับสองพี่น้องไฟแรงอย่าง ปอ-จุมพล พลพละวัฒน์ และ ฐา-ณัฎฐา พลพละวัฒน์ ที่วันนี้ คนทั้งคู่ได้พบความลงตัวในธุรกิจส่วนตัวที่เลือกทำ สร้างความมั่นคงในระดับหนึ่งได้สำเร็จ และกำลังเดินหน้าลุยเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืนเพื่อครอบครัวของพวกเขา
ปอเริ่มต้นประโยคบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตัวเองแบบง่ายๆ เขาเป็นลูกชายคนโต ที่คุณแม่เป็นคนที่มีทักษะด้านธุรกิจสูงมาก และไม่ชอบอยู่นิ่ง เขาจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ และเข้ารับช่วงต่อธุรกิจการทำขนมของฝาก ของคุณแม่ ที่ริเริ่มปูทางเอาไว้แล้ว และด้วยความขยันของคุณแม่ของเขา ทำให้ท่านตัดสินใจเปิดธุรกิจโชห่วยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งธุรกิจ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2554 ทำให้คุณแม่เริ่มมองเห็นช่องทางความมั่นคงของธุรกิจขายปลีกดังกล่าว
“จริงๆ คุณแม่เป็นคนจุดประกายครับ ผมเองรู้จักเซเว่น-อีเลฟเว่น ครั้งแรกในฐานะลูกค้า เรารู้สึกว่ามีของขายเยอะ โดยเฉพาะของกิน เข้ามาที่เดียวคืออิ่ม ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีแฟรนไชส์ คุณแม่เป็นคนไปสอบถาม ถามร้านที่เป็นแฟรนไชส์ หาข้อมูลอะไรให้หมดเลย แล้วก็ใช้ชื่อน้องสาวผมยื่นเอกสาร ขอสมัครทำแฟรนไชส์เซเว่นฯ”
หนุ่มผู้ผันตัวเองมาจับธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอิ่มสะดวก ยี่สิบสี่ชั่วโมงรายนี้ เล่าต่อไปว่า การขอแฟรนไชส์เซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นเรื่องยาก กว่าที่เขาคิด ใช่ว่าจะกำเงินแล้วไปขอซื้อ ทว่าการคัดเลือกและอนุมัติ เป็นไปอย่างมีขั้นตอนที่เคร่งครัด เข้มงวด และรัดกุม เพื่อรักษามาตรฐานแบรนด์ เบื้องต้นการยื่นครั้งแรกโดยชื่อของน้องสาวจึงเป็นอันตกไป
“ทางเซเว่น-อีเลฟเว่น เห็นว่าน้องสาวผมอายุน้อย มีคำถามจิตวิทยา การบริการบางคำถามที่น้องสาวผมตอบไป แล้วยังไม่ถึงระดับการบริการตามมาตรฐานของเขา แต่ก็ยังให้โอกาสไปฝึกงานที่ร้าน 7-Eleven เพื่อให้ดูว่าเราจะทำงานได้ไหม เหมาะกับเราไหม ฝึกอยู่นับเดือน สุดท้ายก็ยื่นเรื่องครั้งที่ 2 ด้วยชื่อของผม และได้รับการอนุมัติในที่สุด”
เซเว่น-อีเลฟเว่นของสองพี่น้องใจสู้ร้านแรก จึงได้มาอยู่ในมือให้พวกเขาบริหารในที่สุด...
“เซเว่น-อีเลฟเว่น มีความแตกต่างจากร้านโชห่วยที่ผมเคยทำในธุรกิจของครอบครัวก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก เป็นระเบียบกว่า ระบบการบริหารจัดการดีกว่ามาก สินค้าได้มาตรฐานมาก จะเข้มงวดมากเรื่องการบริหารจัดการสินค้าให้มีคุณภาพ เพื่อส่งต่อไปยังผู้บริโภค เราต้อง ตรวจสอบวันหมดอายุของสินค้าทุกๆ วัน หากมีหมดอายุวันนี้แล้ว ยังไม่นำออกจากเชลฟ์ ถ้ามีเจ้าหน้าที่เข้าร้านมาตรวจมาตรฐานร้าน แล้วพบ เราจะถูกตัดคะแนนเยอะมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจมาตรฐานจะเข้าตรวจแบบไม่บอกล่วงหน้า ดังนั้นทุกๆ ร้านมีหน้าที่ต้องดูแลมาตรฐานของร้านให้ดีทุกๆ วัน
เจ้าหน้าที่ตรวจมาตรฐานจะตรวจลึกขนาดไปถึงห้องเก็บสินค้า ห้องน้ำพนักงาน แค่มีหยากไย่ก็โดนหักคะแนนแล้วครับ เรียกได้ว่า เราทำความสะอาดกันทั้งวัน ทุกวัน มีดหั่นอาหารมีคราบ หรือเลอะนี่ก็ไม่ได้ คือทำเสร็จต้องล้างทุกรอบ มาตรฐานสูงมาก แต่ผมเข้าใจนะครับ ทุกอย่างที่ต้องทำ คือ ผลดีต่อสุขอนามัยของทั้งลูกค้าและพนักงานในร้านด้วย” หนุ่มปออธิบาย และเล่าต่อไปอีกในมิติของการตัดสินใจเลือกธุรกิจเซเว่น-อีเลฟเว่น ให้เป็นธุรกิจของครอบครัวว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวนของประเทศไทย มีร้านรวงและธุรกิจหลายชนิดที่หยุดชะงัก ขาดสภาพคล่อง ซวดเซ แต่เซเว่น-อีเลฟเว่น ยังคงมีคนเข้าออกตลอดเวลา ยังคงมีลูกค้าต่อคิวเพื่อซื้อของ นี่คือกุญแจสำคัญที่เป็นความสำเร็จของธุรกิจเซเว่น-อีเลฟเว่น ทำให้เขาเชื่อมั่นว่า การตัดสินใจเลือกลงมือทำธุรกิจดังกล่าว เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดประการหนึ่งของเขาทีเดียว
“ตอนนี้มีสองสาขาแล้วครับ เพราะหลังจากเริ่มต้นสาขาแรกได้จนอยู่ตัว ร้านแรกผมก็ให้คุณแม่กับน้องมาช่วยกันบริหาร แล้วเปิดเพิ่มอีกสาขาหนึ่ง สัญญา 10 ปี ผมคิดว่าผมจะต่อไปอีก ทำจนกว่าจะทำไม่ไหว สำหรับผม ธุรกิจนี้คืออู่ข้าวอู่น้ำของผม สร้างความมั่นคงให้ผมและครอบครัวได้มากครับ ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเยอะมาก คาดว่าจะมีสาขาที่ 3 ด้วย”
ในขณะที่ “ฐา” น้องสาวไฟแรงของหนุ่มปอ ผู้กระโดดเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์นี้ตั้งแต่อายุเพียง 22 ปีเท่านั้น ได้ให้รายละเอียดถึงกลยุทธ์ในการบริหารแฟรนไชส์เซเว่น-อีเลฟเว่นแบบลงลึกว่า การบริหารงานที่จะทำให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จ ไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ นัก คือต้องใส่ใจ ต้องทำด้วยตนเอง ต้องรู้ทุกรายละเอียด เพราะมันคือธุรกิจของเรา
“ตอนที่เซเว่นฯ ให้ไปลองฝึกงานที่อื่นก่อนที่จะได้ร้าน ฝึกอยู่เกือบ 3 เดือนทำทุกอย่างแบบพนักงานคนหนึ่ง พนักงานคนอื่น ไม่รู้ว่าเรามาฝึกเพื่อจะไปทำร้านเอง ซึ่งตรงนี้เป็นประโยชน์มาก เพราะทำให้เรารู้ในมิติของความเป็นพนักงาน ได้แก้ปัญหาหน้างาน ได้ทำงานทุกอย่างที่พนักงานต้องทำ เมื่อเรามาทำร้านเอง เราสามารถบริหารคนได้ เรารู้เท่าทันพนักงาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เจ้าของร้านจะพบเจอพนักงานในหลากหลายรูปแบบ สิ่งสำคัญของความเป็นเจ้าของร้านแฟรนไชส์เซเว่นฯ คือความใส่ใจรายละเอียดงานทุกๆ อย่าง ใส่ใจตรวจตราการบริหารสินค้าด้วยตัวเอง ดังนั้นการเข้าไปทำด้วยตัวเองเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าคิดว่าไว้ใจจะจ้างให้คนอื่นมาทำแทน เพราะนั่นคือร้านของเรา ธุรกิจของเรา ไม่มีใครจะใส่ใจและพัฒนาได้ดีเท่าตัวเราเอง”
สาวเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์เซเว่นฯ รายนี้ กล่าวต่ออีกว่า หลังจากทำเซเว่น-อีเลฟเว่น ได้เพียงปีเศษ ครอบครัวก็ดีขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เธอภูมิใจมากที่น้ำพักน้ำแรงในธุรกิจที่เธอได้ลงทุนลงแรงอย่างเหนื่อยยากและพยายามด้วยความมุมานะ ทำให้วันนี้สามารถเลี้ยงครอบครัวเธอให้มีความสุขร่วมกันได้
“เป็นธุรกิจที่ทำให้เกิดความมั่นคงได้จริงๆ หากคนทำใส่ใจดูแลและรักษามาตรฐาน และพยายามอย่างตั้งใจจริง” นักธุรกิจสาวทิ้งท้าย
สนใจเป็นเจ้าของร้านแฟรนไชส์ 7-Eleven
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ธุรกิจแฟรนไชส์ โทร. 02-711-7800
ที่มา : thairath
เปิดหมดเปลือก! ชีวิตหลังทำธุรกิจเซเว่น-อีเลฟเว่น
Reviewed by boss
on
14:39
Rating: