VI ไม่คาดเดา โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร



ผมมักจะถูกถามว่าดัชนีหุ้นจะไปที่กี่จุดในอนาคตเช่นเมื่อถึงสิ้นปีหรือบางทีก็ในสัปดาห์หน้า  บางทีก็ถูกให้คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอะไรจะเป็น “เมกาเทรนด์”  บ่อยครั้งก็จะถูกถามว่าอัตราดอกเบี้ยจะไปทางไหนหรือปรับตัวขึ้นเท่าไร  ดูเหมือนว่าคนต้องการรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อที่จะรู้ว่าเขาควรจะลงทุนในตลาดหุ้นหรือไม่  หรือเขาควรจะเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มไหนหรือตัวไหน   สำหรับผมแล้ว  มันเป็นเรื่องยากที่จะตอบได้ถูกต้องจริง ๆ   หรือถ้าตอบได้ถูกต้อง  ในหลาย ๆ  ครั้ง  มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะใช้ในการลงทุน  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าคนอื่นส่วนใหญ่ก็สามารถตอบได้อย่างถูกต้องเช่นกันซึ่งก็จะทำให้คำตอบของผมไม่มีประโยชน์อะไร  เพราะราคาหุ้นก็จะสะท้อนหรือตอบสนองกับข่าวสารนั้นไปแล้ว  เวลาที่ข่าวออกมาตรงตามที่เราคาด  ราคาก็ไม่ขึ้นหรือลงตามที่ควรจะเป็น  บางครั้งกลับ “สวนทาง”  เข้ากับคำพูดในวงการหุ้นที่ว่า  “ซื้อ (ขาย) ตามข่าวลือ  ขาย(ซื้อ)เมื่อข่าวนั้นเป็นจริง”  ยกตัวอย่างเช่น  เราคาดว่าเฟดจะปรับดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม 2559 ขึ้น 0.25%  การคาดแบบนี้แม้เราจะทายถูก  มันก็อาจจะไม่มีประโยชน์อะไร  เพราะโอกาสที่จะถูกมีสูงและคนส่วนใหญ่ก็คาดกันอยู่แล้ว  และหุ้นก็อาจจะไม่ตกเลยก็เป็นได้  ดังนั้น  ผมจึงไม่อยากคาดอะไรถ้าเลี่ยงได้  โดยเฉพาะการคาดการณ์อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลประกอบการของบริษัทที่ผมสนใจที่จะลงทุน  

แต่ข้อถกเถียงที่สำคัญก็คือ  ราคาของหุ้นนั้น  ขึ้นอยู่กับ “อนาคต”  ราคาของหุ้นนั้นไม่เกี่ยวข้องกับ “อดีต”  ดังนั้น  เราจะประเมินราคาหุ้นได้อย่างไรถ้าเราไม่มีตัวเลขในอนาคตมาใช้ในการคำนวณ  นักลงทุนระดับเซียนทั้งหลายต่างก็บอกว่าเวลาเล่นหุ้นหรือลงทุนนั้น  มันคล้าย ๆ  กับการขับรถที่ว่า  จงอย่ามอง  “กระจกหลัง”  เราต้อง “มองไปข้างหน้า”  มิฉะนั้นรถจะชนท้ายคันอื่นหรือตกถนน  ดังนั้น  การคาดการณ์อนาคตจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดและต้องทำให้ถูกต้องแม่นยำ  ศาสตร์และศิลป์ของการคาดการณ์ต่าง ๆ  จึงเป็นเรื่องที่นักวิเคราะห์จะต้องฝึกฝนอย่างหนักเพื่อที่จะได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการประเมินราคาหุ้นที่ควรจะเป็นและสามารถแนะนำให้กับนักลงทุนได้อย่างถูกต้อง  อย่างไรก็ตาม  ประวัติศาสตร์ยาวนานบอกเราว่า  การคาดการณ์ให้ถูกต้องนั้น  เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ  การเงินและการลงทุน  ที่มักมีปัจจัยกระทบมากมายและสิ่งที่มากระทบนั้นก็มักจะเป็นสิ่งที่มาอย่าง  “ไม่คาดคิด”  เป็นเหตุการณ์แบบ “Random”  หรือแบบ  “สุ่ม”  ไม่สามารถคาดการณ์ได้  โอกาสที่จะคาดการณ์ถูกต้องกับคาดการณ์ผิดนั้น  บ่อยครั้งเท่ากับ 50 : 50  แม้ว่าคนคาดการณ์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเป็น  “เซียน” ก็ตาม

ถ้าเช่นนั้น  VI ควรจะทำอย่างไร?  เราจะเอาตัวเลขจากไหนมาประเมินหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น  หรือเราจะดูว่าอุตสาหกรรมไหนที่เราจะเลือกลงทุนถ้าเราไม่รู้ว่าอนาคตมันจะดีขึ้นหรือเลวลง?

คำตอบของผมก็คือ  เราก็อาจจะจำเป็นที่จะต้องคาดการณ์ในบางเรื่องที่จำเป็นเช่นเรื่องของผลประกอบการของบริษัทในอนาคต  แต่วิธีการในการคาดการณ์นั้น  เราจะต้องทำอย่าง “อนุรักษ์นิยม” จริง ๆ  และพยายามไม่อิงกับตัวเลขที่มาจากการคาดเดาอื่น ๆ  เช่นการคาดการณ์ภาวะอุตสาหกรรม  ภาวะการแข่งขัน  อัตราดอกเบี้ยในอนาคตเพื่อจะนำมาสู่การคาดการณ์ในเรื่องรายได้และผลกำไรของบริษัท  ซึ่งจะทำให้มีโอกาสผิดพลาดสูงมาก  เพราะเรา  “คาดการณ์จากข้อมูลจากการคาดการณ์”  ซึ่งจะทำให้โอกาสผิดพลาดสูงขึ้นแบบ “ยกกำลังสอง”    การคาดการณ์แบบ “อนุรักษ์นิยม” นั้น  อาจจะบอกว่า  กำไรปีหน้าก็  “เท่าเดิม”  เท่ากับปีนี้  หรือถ้าจะอนุรักษ์นิยมน้อยลงมาหน่อยก็อาจจะบอกว่ากำไรปีหน้าก็โตขึ้น 10%  เท่ากับสถิติการเติบโตเฉลี่ยในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาแม้ว่าเราอาจจะมีความเชื่อว่ามีปัจจัยบางอย่างที่กำลังดีขึ้นและกำไรปีหน้าอาจจะโตได้ถึง 20%    และนั่นก็คือวิธีคาดการณ์ของผม  นั่นคือ  อิงตัวเลขของจริงในอดีตเป็นหลัก  ไม่มองปัจจัยในอนาคตที่  “ไม่แน่นอน”

การคาดการณ์ดัชนีในอนาคต  เช่น  เราคาดว่าตลาดหุ้นจะดี  ดังนั้น  เราควรซื้อหุ้นให้มากที่สุด  เพราะนั่นจะทำให้เรามีโอกาสกำไรสูง  แบบนี้สำหรับผมแล้ว  ผมก็จะไม่ทำ  เพราะการทำอย่างนั้นอาจจะไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย  เพราะถึงแม้ว่าเราจะทายถูกว่าตลาดหุ้นจะขึ้น  แต่หุ้นตัวที่เราซื้ออาจจะไม่ขึ้นก็ได้  แต่ถ้าเราทายผิด  หุ้นเราก็อาจจะลง  เราก็เสียหาย  แต่บางทีหุ้นเราก็อาจจะไม่ลงก็ได้  เพราะหุ้นเรามีผลประกอบการที่ดีเยี่ยม  สรุปแล้วการคาดการณ์หรือคาดเดาดัชนีนั้นจึงไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับผม

เช่นเดียวกัน  การคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเองนั้น  ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อะไรนัก   จริงอยู่  อัตราการเติบโตที่ดีย่อมส่งผลต่อรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมาก  มันอาจจะช่วยให้เรารู้ว่าบริษัทจะกำไรดีขึ้นหรือแย่ลง   แต่ปัญหาก็คือ  ใครจะทายได้แม่นยำ?  สถิติระดับโลกบอกว่า  คนที่ทายว่าอัตราการเติบโตจะ “เท่าเดิม”  เท่ากับปีที่แล้ว  มักจะเป็นฝ่ายชนะ  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  เวลาผมจะคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับคาดการณ์เรื่องอื่นต่อไปนั้น  ผมจะ  “เดา”  เอาว่า “ปีหน้า” เศรษฐกิจก็จะยังคงเป็นเหมือน “ปีนี้”  คืออาจจะแย่เหมือนเดิมหรือดีเหมือนเดิมไม่ว่าหน่วยงานทางเศรษฐกิจสำนักไหนหรือนักเศรษฐศาสตร์คนไหนจะว่าอย่างไร  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น  บ่อยครั้งก็ไม่ได้กระทบกับรายได้และกำไรของบริษัทที่ผมลงทุนนักเพราะบริษัทนั้นไม่ได้เติบโตโดยอาศัยการเติบโตทางเศรษฐกิจซักเท่าไร  เพราะมันสามารถโตได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

ในระยะหลัง ๆ  ที่มีการพูดถึงอุตสาหกรรมที่จะเป็น “เมกาเทรนด์” ก็มักจะมีคนมาถามว่าผมคิดว่าธุรกิจไหนจะเป็นเมกาเทรนด์ในอนาคตเพื่อที่ว่าเขาจะสามารถลงทุนได้ก่อนคนอื่น   คำตอบของผมก็คือ  ผมคาดไม่ได้หรอก  ว่าที่จริงก็ไม่เคยมีใครสามารถคาดล่วงหน้าได้ถูกต้อง  ถ้าไม่เชื่อก็ลองหาหนังสือเก่า ๆ ที่พูดเรื่องของ  “โลกในอนาคต”  ดูก็จะพบว่าผู้เขียนที่มักเคยเป็น “นักหยั่งรู้อนาคต” ที่มีชื่อเสียงนั้น “ทายผิด”  กันแทบทั้งนั้น  เช่น  มีใครเคยบอกว่าคนทั้งโลกจะมีโทรศัพท์มือถือที่ติดต่อกันได้ด้วยค่าบริการคิดเป็นเศษสตางค์แบบที่เราใช้สื่อสังคมเช่น Line หรือโปรแกรมอื่น ๆ ในช่วงนี้ ?  ดังนั้น  ผมจึงไม่ทายว่าอะไรจะเป็นเมกาเทรนด์   ว่าที่จริงผมก็ยังไม่เห็นว่ารู้ไปจะมีประโยชน์อะไรนัก  เพราะเวลาเราพูดว่า “เมกาเทรนด์” นั้นก็หมายความว่ามันเป็นเรื่องที่จะเกิดและต่อเนื่องไปยาวนานหลาย ๆ  ปีหรือเป็นสิบ ๆ ปี  ไม่มีความจำเป็นต้องรู้ก่อนล่วงหน้าเป็นปี ๆ  จะรู้ทีหลังซักปีสองปีบางทีก็ยังไม่สายที่จะเข้าลงทุน  ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อเกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการขึ้นแล้ว  เราต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่ามันจะเป็นเมกาเทรนด์จริง  ไม่ใช่เรื่องของ  “แฟชั่น” ที่จะหายไปอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  การวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เราเห็นในช่วงแรก ๆ จะต่อเนื่องเป็นเมกาเทรนด์หรือไม่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า

วิธีวิเคราะห์หรือคาดการณ์ของผมนั้นก็คือการมองประเด็นต่าง ๆ  ในด้านของ  “โครงสร้าง”  และ  “ความสามารถในการแข่งขัน”  ซึ่งจะช่วยให้เกิดความแน่นอนในตัวเลขหรือเหตุการณ์หรือผลิตภัณฑ์หรือบริการที่จะเกิดขึ้นและเป็นเมกาเทรนด์ในอนาคต  ไม่ใช่เกิดจากการ  “คาดเดา”  อะไรที่ไม่แน่นอนเลย

ความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งนั้นมักทำให้บริษัทสามารถกำหนดเป้าหมายที่จะโตได้ด้วยตัวเองถ้าตลาดยังเติบโต  ตลาดเองที่ยังเติบโตได้นั้นก็อาจจะมาจาก “โครงสร้าง” ของประชากรที่อาจจะกำลังแก่ตัวลงหรือมีรายได้มากขึ้นซึ่งทั้งสองอย่างนั้นมักจะคาดการณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำ  ผลก็คือ  เราสามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทจะมีรายได้หรือกำไรที่ดีขึ้นในระดับที่คาดหวังอย่างค่อนข้าง  “แน่นอน”  ซึ่งจะทำให้เราสามารถประเมินราคาหุ้นที่เหมาะสมได้

เขียนมายืดยาว  ประเด็นหลักของผมที่ต้องการจะสื่อก็คือ  “อย่าคาดเดา”  โดยเฉพาะกับตัวเลขที่สดใสงดงามเพื่อที่จะหาเหตุผลให้มูลค่าของหุ้นเพิ่มขึ้นเกินจริง  พยายามอิงกับตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงในอดีตที่บริษัททำได้มาหลาย ๆ  ปี   อย่าใช้ตัวเลขที่เป็น “ความฝัน”  หรือการมองโลกในแง่ที่ดีเกินไปในการประเมินมูลค่าหุ้น

ที่มา : Thaivi
VI ไม่คาดเดา โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร VI ไม่คาดเดา โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร Reviewed by boss on 15:57 Rating: 5
ขับเคลื่อนโดย Blogger.