หุ้น ”เสพติด” ในโรงเรียน


   มีใครเคยรู้บ้างไหมว่า นโยบายสร้างนักลงทุนรุ่นใหม่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยการพุ่งเป้าไปที่นักศึกษาสถาบันต่างๆ นั้น บทสรุปน่าเศร้าเพียงใด

              ไม่เคยมีคำแถลงจากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ว่า โครงการเจาะกลุ่มนักศึกษา กวาดต้อนเข้ามาเป็นนักลงทุนรุ่นใหม่ ผลลัพธ์ออกมาอย่างไร เพียงแต่รับรู้กันว่า โครงการนี้ “ล้มพับ” ลงอย่างเงียบๆ
              ประมาณสิบปีก่อน ตลาดหลักทรัพย์ฯริเริ่มนโยบายขยายฐานนักลงทุน โดยเบนเข็มเข้าสู่สถาบันการศึกษา และขอความร่วมมือแกมบังคับให้บริษัทสมาชิกหรือบริษัทโบรกเกอร์ เดินสายออกให้ความรู้การลงทุนตามสถาบันการศึกษาทั่วไประเทศ

               เป้าหมายที่ถูกวางไว้คือ การเชิญชวนให้นักศึกษาเข้ามาลงทุนในหุ้น โดยพยายามโน้มน้าวให้เห็นถึงผลตอบแทนที่จูงใจ หว่านล้อมให้เห็นถึงโอกาสของความมั่นคั่งที่สามารถตักตวงได้จากตลาดหุ้น
               นโยบายการสร้างนักลงทุนในเชิงปริมาณดูเหมือนจะเห็นผลในระยะเริ่มต้น เพราะหลังจากอบรมให้ความรู้เรื่องการลงทุนอยู่พักใหญ่ นักศึกษาจำนวนหนึ่งทยอยกันเปิดบัญชีกับบริษัทโบรกเกอร์ กลายเป็นนักลงทุนรุนใหม่สมใจผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นคนต้นคิดโครงการ

              แต่นักลงทุนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ มีอายุสั้น โลดแล่นอยู่ในตลาดหุ้นไม่ทันไร ก็ต้องปิดฉากม้วนเสื่อกลับเข้าห้องเรียนกันตามเดิม

              แทบไม่ต้องแจกแจงว่า นักศึกษาที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นหนูทดลองยา ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวจากการลงทุน

              เพราะนักลงทุนหน้าเก่าๆ มีความรู้มีประสบการณ์สูง ผ่านบทเรียนในชีวิตมาโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นหมอ อาจารย์ คนระดับด๊อกเตอร์ นักธุรกิจใหญ่ หรือข้าราชการระดับสูง ยังขนเงินมาทิ้งในตลาดหุ้น

              นับประสาอะไรกับนักศึกษาที่อ่อนหัด จะรอดได้อย่างไร โดยแทบทั้งหมดขาดทุนจากหุ้น เงินที่ขอจากพ่อแม่มาลงทุน เสียหายพินาศ จากเงินต้น 5 แสนบาท อาจจะเหลืออยู่ 1 แสน จากเงินต้น 1 แสน อาจจะเหลือไม่กี่หมื่นบาท

              โครงการนำหุ้นเข้าสถาบันการศึกษา เพื่อจูงนักศึกษามาเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ นอกจากทำให้ครอบครัวนับร้อยนับพันต้องเสียหายแล้ว ยังทำให้เกิดความร้าวฉาวในครอบครัวด้วย
              เพราะนักศึกษาเองก็รู้สึกผิดที่นำเงินพ่อเงินแม่มาทำให้เกิดความเสียหาย
      
              นโยบายการขยายนักลงทุนหน้าใหม่ในเชิงปริมาณ เคยสร้างความเสียหายในวงกว้างมาแล้ว โดยเมื่อประมาณปี2534 หลังวิกฤต”ซัดดัม” อดีตประธานาธิบดีอีรัก ตลาดหลักทรัพย์ส่งเสริมให้บริษัทโบรกเกอร์เร่งขยายสาขาในต่างจังหวัด

             เป้าหมายคือปลุกนักลงทุนภูธรให้เข้ามาเล่นหุ้น โดนไม่ต้องคำนึงถึงการปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ
             บริษัทโบรกเกอร์ซึ่งมีประมาณ 30 แห่งในขณะนั้น แข่งขันกันเปิดสาขาต่างจังหวัดกันชุลมุน พยายามเจาะหาลูกค้ารายใหม่ๆ ซึ่งสถานการณ์เป็นใจ เพราะตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้น นักลงทุนหน้าใหม่จึงแห่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น ทั้งที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจดีพอ

            นักลงทุนภูธรหน้าใหม่ สนุกสนานกับการเล่นหุ้นได้ไม่กี่ปี ก็เกิดวิกฤตค่าเงินเปโซของเม็กซิโกในต้นปี 2537 ราคาหุ้นทั้งกระดานดิ่งเหว นักลงทุนภูธรหน้าใหม่ๆบาดเจ็บหนักกลับบ้านกันเป็นแถว

            ใครที่เป็นคนต้นคิด ขยายฐานนักลงทุน โดยมุ่งในเชิงปริมาณ ถือว่าสร้างบาปสร้างกรรมไว้เยอะ สร้างบาปสร้างกรรมกระทั่งนักศึกษา

            การนำยาเสพติดไปแพร่ระบาดในโรงเรียน นับว่าเป็นเรื่องชั่วร้ายแล้ว แต่การนำหุ้นไปให้นักศึกษา”เสพติด” นับเป็นเรื่องที่อำมหิตไม่แพ้กัน

             ไม่มีการแสดงความไว้อาลัยในความสูญเสียของนักลงทุนหน้าใหม่ ที่ตกเป็นเหยื่อนโยบายขยายฐานนักลงทุนในเชิงปริมาณ

             จะมีคนต้องหมดเนื้อหมดตัวเซ่นสังเวยอีกเท่าไหร่ ตลาดหลักทรัพย์จึงตระหนักถึงเคราะห์กรรมที่ก่อไว้กับนักลงทุนหน้าใหม่ 


ที่มา : manager
หุ้น ”เสพติด” ในโรงเรียน หุ้น ”เสพติด” ในโรงเรียน Reviewed by boss on 14:16 Rating: 5
ขับเคลื่อนโดย Blogger.