Sharing Economy เศรษฐกิจแบ่งปัน คืออะไร? ทำไมถึงเป็นที่นิยม?



เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2558 ที่  Books & Belongings  กลุ่ม Digital Culture Thailand ร่วมกับมูลนิธิ Heinrich Böll Stiftung และ Siam Intelligence Unit จัดงานเสวนา Sharing Economy ‘เศรษฐกิจแบ่งปัน’ ร่วมแชร์ประสบการณ์และมุมมองเรื่องเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน

Sharing Economy หรือ เศรษฐกิจแบ่งปัน เป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 2000 งานเสวนาจัดขึ้นโดยเชิญผู้ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำธุรกิจนี้คือ

  • คุณสันทิต จีรวงศ์ไกรสร ตัวแทนจาก lalamove ผู้ให้บริการรถขนส่งสินค้า
  • คุณวาลัด เสน่ห์ ผู้มีประสบการณ์ในการเข้าไปร่วมขับรถจากUberX
  • คุณทิวารัตน์ ไพศาลวิภัชพงศ์ ผู้ที่ทำธุรกิจให้เช่าที่พักอาศัย จาก Airbnb                                                                               เสริมการบรรยายโดยอธิป จิตฤกษ์ นักวิชาการอิสระ


Sharing เป็นคำที่เริ่มพูดถึงกันได้ไม่นานมานี้ เป็นที่สงสัยกันว่าคำนี้เป็นนิยามที่ใหม่จริงหรือเปล่า เพราะการแชร์นั้นมีมาตั้งนานแล้ว โดยทุกวันนี้สิ่งที่แตกต่างคือทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งในอดีตเมื่อพูดถึงก็จะเป็นเพียงทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่พอเป็น Sharing Economy ในยุคนี้เอกชนหลายเจ้ามีการใช้ทรัพยากรร่วมกันภายใต้กติการ่วมกัน คำนี้เกิดขึ้นมาเพราะว่ามีปรากฏการณ์บางอย่างในทางเศรษฐกิจ  โดยเริ่มมีธุรกิจแบบใหม่ที่บริษัทหลายๆ บริษัทประกอบธุรกิจโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสินค้าเป็นของตัวเอง เป็นการให้บริการที่ให้ผู้ผลิตมาพบกับผู้บริโภคโดยตรง บริษัทที่โด่งดังได้แก่ ebay, Uber, Airbnb บริษัทเหล่านี้จะแตกต่างจากบริษัทไอทีเดิมๆ ที่ยังมีสินค้าเป็นพื้นฐาน

คำนี้เกิดขึ้นมาเพราะบริษัทใหม่เหล่านี้เติบโตเร็วมากและมีการเข้าสู่ตลาดหุ้น พอมาถึงจุดนี้หลายๆ ฝ่ายก็เริ่มมีปฏิกิริยา ว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่เป็นธรรมหรือเปล่า เพราะไม่ได้มีการเก็บภาษีในช่วงแรก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้รัฐเองก็เริ่มต้นทำความรู้จักไปพร้อมๆ กันในการหาวิธีจัดการกับธุรกิจแชร์ริ่งนี้

ก่อนจะมาเป็นธุรกิจแชร์ริ่งต้องกล่าวย้อนไปถึงระบบตลาดทุนนิยมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 บนฐานของการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมหาศาล จึงไม่ได้มีนายทุนเพียงเจ้าเดียวแต่ร่วมลงทุนกันหลายเจ้า และเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 20 ที่ภาคบริการมีการขยายขนาดที่ใหญ่กว่าภาคการผลิต โดยบางคนอาจเรียกว่าเป็นภาวะหลังอุตสาหกรรม ที่มีทั้งคนที่ให้บริการและผู้รับบริการต่างกระจายตัวออกไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่เจ้าใดเจ้าหนึ่ง เมื่อกลายมาเป็น Sharing Economy การเป็นลูกจ้างก็จะไม่มีอีกต่อไป คล้ายกับเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกัน วิธีคิดตรงนี้ส่งผลโดยตรงต่อแนวคิดเรื่องสหภาพแรงงานซึ่งเกิดขึ้นในยุคอุตสาหกรรม และรัฐเองก็อยากจะหาวิธีให้แนวคิดนี้กลับไปอยู่ในระเบียบที่สามารถจัดการได้

ธุรกิจแชร์ริ่งในบ้านเราตามที่วิทยากรได้มาเล่าสู่ให้ฟังคือ คุณทิวารัตน์จาก Airbnb แรกเริ่มเกิดจากได้รับคำแนะนำของน้องชายที่อยู่ในซานฟรานซิสโกซึ่งไปเห็นการให้เช่าที่นอนหรือโซฟาจากกรณีโรงแรมเต็มหากมีการจัดงานใหญ่ๆ ขึ้น จึงได้ลองทำธุรกิจตรงนี้ดู เพราะมีตึกซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้ถูกใช้อยู่แล้ว ช่วงแรกจะมีผู้เข้าอาศัยอย่างต่อเนื่องแต่จะซาลงหลังผ่านปีแรกเพราะเริ่มมีคนเปิดมากขึ้น ยุคนี้ผู้คนส่วนหนึ่งก็เริ่มมีการลงทุนทางที่อยู่อาศัย การนำมาให้เช่าจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งเช่นกัน

ส่วนคุณวารัดเป็นผู้ที่เข้าไปลองขับรถให้ UberX เกิดจากความสนใจส่วนตัว มีการเตรียมหลักฐานสำเนาทะเบียนรถ ใบขับขี่ ไปใช้ในการสมัคร โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวเข้าไปร่วมขับได้เลย การรับผู้โดยสารเป็นการเรียกผ่านแอพ มีระบบควบคุมพาร์ทเนอร์ผ่านการโหวตของผู้โดยสาร รายได้จากการขับมีการสร้างแรงจูงใจว่าถ้ายิ่งขับได้เที่ยวมากจะได้เงินกินเปล่ามากขึ้น

ด้านคุณสันทิต ตัวแทนจาก lalamove พูดในมุมของผู้ประกอบการ ว่าจะต้องมีการบริหารจัดเตรียมการให้บริการระหว่างลูกค้ากับคนขับรถ ซึ่งไม่ใช่การเข้าไปควบคุมคนขับรถแต่จะต้องให้เขาเลือกได้ โดยการบริหารจัดการจะมีลักษณะเป็นเอเจนต์มากกว่า การรักษาคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้ตอบสนองได้ตรงความต้องการของลูกค้า ส่วนคนที่เข้ามาขับรถให้จะมีลักษณะของคนที่มีเวลาว่างสามารถเลือกช่วงเวลาได้ เลือกรับงานได้ ในทางกลับกันการเข้ามาทำตรงนี้ก็จะไม่ได้เบี้ยเลี้ยงเหมือนพนักงานประจำ

ในด้านปัญหาของ Sharing Economy จะมีตรงกันคือในแง่ของกฎหมายที่ยังไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่าธุรกิจประเภทนี้จะจำแนกให้ชัดเจนได้อย่างไร ส่วนผู้ให้บริการเองก็อาจจะยังไม่มั่นใจได้ว่าระบบที่มีช่องว่างนี้ถ้าเกิดปัญหาตัวบริษัทอาจจะไม่สามารถรับประกันได้เต็มที่ การเกิดขึ้นของธุรกิจนี้มีที่มาจากช่องว่างของการให้บริการในระบบหลัก แต่เมื่อเป็นระบบทางเลือกก็จำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพให้คงที่

จุดเริ่มของ Sharing Economy เริ่มขึ้นจากการแชร์ข้อมูลในอินเตอร์เน็ต จะยังไม่มีใครนึกถึงกิจกรรมอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ตามความเข้าใจของคนทั่วไปในขั้นแรกมักจะคิดว่าการแชร์ข้อมูลอย่างมากมายนี้จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ แต่หลังจากมีการแชร์ที่เพิ่มมากขึ้นก็จะมีส่วนอื่นมารองรับระบบโดยที่อุตสาหกรรมไม่ได้พังอย่างที่คิดกัน สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้วางอยู่ในวิธีคิดที่ว่า คนต้องการเข้าถึงบางอย่าง โดยไม่ได้ต้องการเป็นเจ้าของอีกต่อไปแล้ว ปัญหาที่ผู้ผลิตเหล่านี้ต้องเจอก็คือปัญหาลิขสิทธิ์เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการผลิต ไมไ่ด้ครอบคลุมถึงช่องทางการแชร์ และสิ่งที่ผู้คนต้องการในการรับบริการจาก Sharing Economy ก็คือการรับประกันเมื่อเกิดความผิดพลาด ซึ่งของเป็นวัตถุก็ย่อมแตกต่างจากของที่เป็นอวัตถุ หากเป็นการแชร์ไฟล์แล้วพบว่าไฟล์เสียก็แก้ไขง่ายๆ โดยการส่งไฟล์ใหม่ แต่ถ้าเป็นสิ่งของที่ถูกส่งไปแล้วเกิดความเสียหายขึ้น คนที่อยู่ในระบบก็ต้องการการรับผิดชอบเช่นเดียวกัน ดังนั้นแล้ว แนวโน้มของสิ่งที่เป็นวัตถุกับไม่ใช่วัตถุ ในระบบ Sharing Economy จึงย่อมแตกต่างกัน

ที่มา : siamintelligence
Sharing Economy เศรษฐกิจแบ่งปัน คืออะไร? ทำไมถึงเป็นที่นิยม? Sharing Economy เศรษฐกิจแบ่งปัน คืออะไร? ทำไมถึงเป็นที่นิยม? Reviewed by boss on 03:34 Rating: 5
ขับเคลื่อนโดย Blogger.