อนาคตตวงการหนังสือและการเติบโตของรายได้ของธุรกิจดิจิทัล


วันนี้อยากมาสรุปตัวเลขให้ดูกันเกี่ยวกับวงการหนังสือ-สิ่งพิมพ์ไทย กับวงการสื่อโฆษณาดิจิทัลว่าการเติบโตเป็นยังไงบ้างครับ

หากดูตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ (Print) ทั้งหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร เห็นได้ชัดว่าตัวเลขมูลค่ารวมแต่ละปีตกลงอย่างเห็นได้ชัด

- เงินโฆษณาในสื่อ “หนังสือพิมพ์”

  • ปี 2549 มีรายได้ 15,432 ล้านบาท
  • ปี 2558 มีรายได้ 12,3321 ล้านบาท (ลดลง 20.09% เมื่อเทียบกัน)

- เงินโฆษณาในสื่อ “นิตยสาร”

  • ปี 2549 มีรายได้ 6,140 ล้านบาท
  • ปี 2558 มีรายได้ 4,227 ล้านบาท (ลดลง 31.16% เมื่อเทียบกัน)

หากรวมตัวเลขทั้ง หนังสือพิมพ์และนิตยสารเข้าด้วยกัน
  • ปี 2549 จะมีมูลค่าถึง 21,572 ล้านบาท
  • ปี 2558 มูลค่าจะลดลงมาเหลือ 16,559 ล้านบาท (ลดลง 23.24% เมื่อเทียบกัน)
ดูแล้วเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงจริงๆ สำหรับวงการสิ่งพิมพ์ของไทย


จากตัวเลขที่ลดลง ทำให้เกิดการปิดตัวของนิตยสารต่างๆ ลงไปเป็นจำนวนมาก ในแทบจะทุกประเภทของนิตยสาร ตัวอย่างนิตยสารที่ปิดตัวไปได้แก่ Reader’s Digest ภาษาไทย, นิตยสาร คอสโมโพลิแทน, นิตยสารอิมเมจ, การ์ตูนค่ายวิบูลยกิจ หรือ การ์ตูนรายสัปดาห์ บูม เป็นต้น และมีอีกจำนวนมาก

การปิดตัวนี้เกิดจากพฤติกรรม “การอ่าน” ของคนที่เปลี่ยนไป จากเดินอ่านจากสื่อ “กระดาษ” มาเปลี่ยนเป็นอ่านทาง “ออนไลน์ หรือ ดิจิทัล” แทน ตัวอย่างเช่น เดียวนี้ผู้หญิงหลายๆ คนหันมาอ่านข้อมูลแฟชั่น review สินค้าทางออนไลน์แทน ติดตาม บิวตี้บล๊อกเกอร์ และคนดังออนไลน์แทนรวมไปถึง การติดตาม Social Media ของดาราดังๆ แทนการอ่านหนังสือพิมพ์ดาราทั่วๆ ไป

เมื่อการอ่านของคนเปลี่ยนไป รูปแบบของ “หนังสือ” ก็เปลี่ยนไป จากเป็นกระดาษเข้าสู่ออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะด้วย “เวลา” ที่มีเท่าเดิม และการหาหนังสืออ่าน มันเป็นสิ่งที่มีข้อจำกัด เมื่อเทียบกับการอ่านทางออนไลน์ ที่แทบไม่มีข้อจำกัดด้าน การเข้าถึง, ราคาที่ถูกมากว่าหรือ ฟรีเลยด้วยซ้ำ และจะอ่านที่ไหนก็ได้ผ่านมือถือ และอุปกรณ์ต่างๆ นานาๆ ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์กลายเป็นสิ่งที่กำลังถอดถอย หรือปิดตัวไปอย่างรวดเร็ว


 
ผู้หญิงส่วนใหญ่เริ่มหันไปติดตาม รีวิวของคนดังในโลกออนไลน์ ผ่านวีดีโออย่าง Youtube ทำให้คนธรรมดาๆ กลายเป็นสื่อ และสามารถมีคนติดตามได้เป็นจำนวนมากๆ (นี้คือตัวอย่างนึงของการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้หญิงในการเสพข้อมูลข่าวสาร)


อีกตัวอย่างของกลุ่มเด็กๆ ที่เลิกซื้อการ์ตูนอ่าน หันมาอ่านออนไลน์อย่างมาก เร็ว ฟรี และง่าย โดยจะมีกลุ่มคน นำต้นฉบับมาจาก ต่างประเทศและช่วยกันแปล แจกจ่ายทางออนไลน์

วงการสื่อโฆษณาออนไลน์
ในขณะที่วงการสิ่งพิมพ์กำลังตกลงอย่างฮวบฮาบ ลองมาดูวงการสื่อออนไลน์กันบ้างว่าเป็นอย่างไร? หากดูตัวเลขจาก DAAT จะเห็นได้ว่าตัวเลขสื่อโฆษณาออนไลน์ในปี 2016 น่าจะมีถึงเกือบหมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 23% จากปี 2015 (แต่ตัวเลขนี้เก็บจากแค่ Digital Agency จำนวนนึงเท่านั้น) ส่วนตัวผมประมาณการณ์เองว่า ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ใช้สื่อออนไลน์ ยังไม่ได้ถูกนำมารวมอยู่ในนี้อีกจำนวนมาก เช่น เว็บขายของ E-Commerce, ธุรกิจต่างๆ ที่ซื้อโฆษณาออนไลน์เอง รวมไปถึง SME ขนาดเล็ก ไปจนถึงบุคคลธรรมดาที่ลงโฆษณาทางออนไลน์ ดังนั้นหากผมประมาณคร่าวๆ ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ (ปี 2016) น่ามีไม่ต่ำกว่า 15,000-20,000 ล้านเลยทีเดียว (หากเปรียบเทียบกับสื่อสิ่งพิมพ์ ตอนนี้มูลค่าแทบจะเท่ากับแล้ว หลังจากที่เพิ่งเติบโตมาไม่กี่ปี)

เงินโฆษณาออนไลน์ไปอยู่ที่ไหน?
หากลองดูตัวเลขแยกประเภทการใช้สื่อโฆษณาออนไลน์ จะเห็นได้ว่า มีการใช้เม็ดเงินในสื่อโฆษณาออนไลน์ประเภท Display Ads หรือโฆษณาพวกแบนเนอร์ แถบโฆษณาในเว็บไซต์ และตัวเลขที่เติบโตจนน่าตกใจคือการใช้เม็ดเงินลงโฆษณาใน Facebook ซึ่งหากวิเคราะห์ดูดีๆ เงินเกือบประมาณ 6,755 ล้านบาท หรือประมาณ 67% ของเม็ดเงินลงโฆษณาออนไลน์ของไทย จะนำไปจ่ายออกไปยังสื่อต่างประเทศ อย่าง Google, Facebook, Line, Instagram, Youtube เป็นต้น (ผมประมาณการณ์กว่า 50% ของ Display Ads น่าจะไปลงผ่าน Google Ads Network)


การเติบโตของสื่อออนไลน์ในต่างประเทศ
เมื่อลองมาดูการเติบโตของสื่อออนไลน์ในต่างประเทศอย่าง Facebook และ Google จะเห็นได้ว่า
  • รายได้ในปี 2015 ของ Facebook มีสูงถึง 17,928 ล้าน USD หรือประมาณ 6.29 แสนล้านบาท  เติบโตขึ้นสูงถึง +43.82% เลยทีเดียว (มีพนักงาน 12,691 คน รายได้ต่อหัว 49.56 ล้านบาท)
  • รายได้ในปี 2015 ของ Google มีสูงถึง 74,540 ล้าน USD หรือประมาณ 2.61 ล้านๆ บาท (อ่านไม่ผิดหรอกครับ) เมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดินของไทยปี 2015 มี 2.33 ล้านบาท (รายได้ Google มากกว่างบประมาณแผ่นดินไทย 2.8 หมื่นล้านบาท) ในขณะที่ Google มีพนักงานทั่วโลก 61,814 ในปี 2015 หากคิด รายได้ต่อพนักงาน Google หนึ่งคนจะตกคนละ 42.2 ล้านบาท

สรุปจากข้อมูลทั้งหมด
ผมวิเคราะห์มาให้เห็นตัวเลขทั้งหมดว่าการเติบโตของวงการออนไลน์ และวงการสิ่งพิมพ์เป็นอย่างไรบ้าง ไม่ได้ตั้งใจจะโจมตีสื่อต่างประเทศ หรือให้คนไทยหยุดใช้หรือต่อต้าน สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทุกๆ ประเทศกำลังเจอกับสิ่งนี้โถมเข้ามา ไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ผมวิเคราะห์ได้ไม่ยากเลยว่า ต่อไปอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้า เม็ดเงินโฆษณาของทั่วโลกจะอยู่กับ 2 บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Google และ Facebook  อย่าหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ที่อยากให้คิดตามคือ “เราจะเป็นคนบริโภคสื่อออนไลน์แบบฉาบฉวย” ใช้ไปวันๆ ไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง กับธุรกิจ หรือกับสังคมบ้างหรือ? หากเราใช้แบบไปวันๆ ไปเรื่อยๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร เราก็กลายเป็นคนใช้เทคโนโลยี หรือใช้ของนอกอย่างสิ้นเปลือง ไม่มีผลอะไรกลับมา  แต่หากรู้จักใ้ช้ประโยชน์สื่อออนไลน์ ของต่างชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ตัวเรา ชีวิตเรา มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น ขายของได้มากขึ้น ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศชาติได้มากขึ้น แบบนี้แหละผมว่าเป็นแนวทางที่เราคนไทย ควรและต้องทำ ครับ เราถึงจะเป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ใครก็ตามที่ขายแค่ในประเทศไทย ก็เปิดหูเปิดตา เริ่มขายไปต่างประเทศได้แล้วนะครับ คู่แข่งจากต่างชาติยกขโยงเข้ามาค้าขาย กับคนไทยแล้ว (อ่านอันนี้แล้วคนจะต้องตกใจ) “การค้าออนไลน์ การตลาดออนไลน์ มันทำให้คนทั่วโลกห่างกับคุณเพียงแค่คลิกเดียว” อย่าไปมัวแต่ทำอะไรกับคนไทยเท่านั้น
  • หากมีธุรกิจอยู่แล้ว เริ่มคิดการค้าขายออกไปนอกประเทศได้แล้ว
  • คิดจะสร้างธุรกิจใหม่ Startup อะไรก็แล้วแต่ นอกจากมองตลาดในไทยแล้วต้องมองตลาดต่างชาติด้วย
  • หากมีสินค้าก็ ทำแคมเปญเจาะต่างชาติเลย (นักการตลาด คิดให้ออกนอกประเทศไปซะ ไม่ใช่อดอู้แค่เฉพาะในไทย)
  • หัดออกไปดูงาน ไปดู Exhibition ไปหาเพื่อนต่างประเทศใหม่ๆ บ้าง จะเปิดหูเปิดตา เปิดความคิดใหม่ๆ มาก
  • หันอ่านสื่อต่างประเทศบ้าง ไม่ใช่อ่านแต่สื่อไทยอย่างเดียว จะได้เห็นว่าโลกไปไหนแล้ว
  • เด็กไทย สอนให้รู้จักการค้า เห็นมุมมองของการทำธุรกิจกับต่างประเทศเยอะๆ
  • และที่สำคัญ ภาษาอังกฤษ พูด อ่าน เขียนให้ได้ ไม่ต้องไปเรียนให้เสียเงิน “หาโอกาสใช้ หาโอกาสพูด ใช้มันบ่อยๆ เดียวมันก็เป็นจริงๆ เพราะหากไปเรียนมาแล้วไม่ได้ใช้ เดียวก็ลืม เสียดายเงิน
และที่สำคัญ เริ่มต้นทำการค้าออนไลนได้แล้ว เปิดเว็บไซต์ขายของได้แล้ว เปิดภาษาอังกฤษด้วย จะได้ค้าขายไปต่างประเทศซะ หากนึกไม่ออกว่าจะเริ่มต้นยังไง ก็ขอแนะนำมา เริ่มต้นกับ TARAD.com ละกันครับ (อันนี้โฆษณา ฮ่าๆ )

สุดท้าย อ่านมาถึงตรงนี้ ไม่ได้อย่างให้ตกใจว่าแย่แล้วกู แต่อยากให้คิดว่า ตัวเรา ทีมเรา บริษัทเรา ประเทศเรา จะปรับตัวยังไงให้เข้ากับยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาแล้ว.!

เพราะคุณหากเก่งขึ้น > ทีมคุณจะเก่งขึ้น > บริษัทเราเก่งขึ้น > สังคมเก่งขึ้น > แล้วประเทศเราก็จะเก่งขึ้น

ทุกอย่างเริ่มที่ตัวเรา.!  คิดให้ออก แล้วลงมือทำมันซะ.. ไม่ใช่อ่านสนุกๆ แล้วแชร์ไปให้ดูเท่ห์ๆ  คิดตามๆ แล้วบทความนี้จะเกิดประโยชน์มากๆ เชื่อผม.!

อนาคตตวงการหนังสือและการเติบโตของรายได้ของธุรกิจดิจิทัล อนาคตตวงการหนังสือและการเติบโตของรายได้ของธุรกิจดิจิทัล Reviewed by boss on 15:42 Rating: 5
ขับเคลื่อนโดย Blogger.