เจ้าของ หรือ มืออาชีพ? โดย ชาย มโนภาส(คนขายของ)



ผมเป็นสาวก Apple มานานใช้ IPHONE มาหลายรุ่น แต่ไม่มีรุ่นไหนที่เคยมีปัญหาจนกระทั่งเปลี่ยน มาใช้ IPHONE 6 เมื่อไปที่ศูนย์บริการ พนักงานบอกว่าปัญหานี้มีคนเคยเป็นมาก่อนหน้านี้ แต่ก็แก้ไม่ได้ แนะนำ ให้เปลี่ยนเครื่องใหม่ดีกว่า ทำให้ผมมีคำถามในใจว่า การบริหารจัดการของ Apple อาจมีปัญหาหลังการจากไปของ Steve Jobs ผู้ก่อตั้งบริษัทหรือไม่? และเมื่อไม่นานนี้ Apple ได้ประการผลประกอบการของปี 2016 (ตุลา 2015 – กันยา 2016) พบว่ายอดขายของ Apple ลดลงเมื่อเทียบปีที่แล้วเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ทำให้ผมเกิดความสงสัยว่า ผู้บริหารมืออาชีพอาจจะบริหารองค์กรสู้เจ้าของหรือผู้ก่อตั้งบริษัทไม่ได้ ข้อสรุปนี้น่าจะเป็นจริงหรือไม่?

เมื่อลองมองย้อนกลับไปในอดีตพบว่าผู้ก่อตั้งบริษัทหลายราย มีความสามารถบริหารจัดการที่เป็นเลิศ ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างมหาศาล อย่างเช่น Sam Walton ผู้ก่อตั้ง Walmart ค้าปลีก ยักษ์ใหญ่ของอเมริกา จากร้านค้าปลีกเล็กๆในรัฐ Arkansas ด้วยกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เทคนิคโปรโมชั่นที่แพรวพราว และ การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารงาน ทำให้ Walmart ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทข้อปลีกที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา มูลค่าหุ้นของ Walmart เพิ่มขึ้นถึง 54 เท่าในช่วง 16 ปี ตั้งแต่วันที่ Walmart ได้ นำหุ้นเข้าจดทะเบียนจนถึงวันที่ Sam Walton ลงจากตำแหน่ง CEO หรืออย่าง Kelvin Plank ผู้ก่อตั้ง และ CEO ของ Under Armour เสื้อผ้ากีฬาซึ่งกำลังเป็นที่นิยมทั้วโลก ด้วยการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ ได้สร้างยอดขายจากเพียง 20 ล้านเหรียญในปี 2001 จนกลายมาเป็นราว 4,000 ล้านเหรียญ ในอีกสิบสี่ปีต่อมา

แต่เมื่ออ่านกรณีศึกษามากขึ้น ผมกลับพบว่ามีผู้ก่อตั้งหลายรายเหมื่อนกันที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท อย่างเช่นในกรณีของ Aubrey McClendon ผู้ก่อตั้งบริษัท Chesapeake Energy ซึ่ง USA TODAY รายงานว่า McClendon ได้รับค่าตอบแทนที่สูงมากกว่าปกติในฐานะ CEO ของบริษัท โดยในปี 2008 เขาได้รับเงินสูงถึง 100 ล้านเหรียญเป็นค่าตอบแทนในการบริหารงาน ในขณะที่บริษัททำกำไรสุทธิลดลงมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรืออย่าง Andrew Mason ผู้ก่อตั้ง และ CEO ของ Groupon บริษัทขายส่วนลดพิเศษสำหรับดีลพิเศษทางออนไลน์ เจอปัญหาเรื่องการแจ้งกำไรเกินจริงจนต้องมีการตรวจสอบและแก้ไขตัวเลขกันใหม่ หรือในกรณีของ Angelo Mozilo ผู้ก่อตั้ง และ CEO ของ CountrywideFinancial ซึ่งบริหารบริษัทจนพังคามือในช่วงของวิกฤตซับไพร์ม

ในขณะที่ CEO ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ก่อตั้งบริษัท แต่เป็นมืออาชีพที่รับบริหารงานก็มีหลายคนที่มีผลงานที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก อย่างเช่น Jack Welch ผู้ซึ่งเป็น CEO ของ GE ในช่วงปี 1981-2001 ได้ผลักดันรายได้ของ GE ให้เติบโตราว 4 เท่า โดยในยุคของ Welch นั้น GE มีการทำการควบรวม กิจการมากมาย และบริษัทได้นำ “Six Sigma” มาปรับปรุงการทำงานของ GE ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จนทำให้มูลค่ากิจการของ GE เติบโตถึง 29 เท่าและกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกในปีที่เขา เกษียณอายุ

ในปี 2015 Harvard Business Review ได้ตีพิมพ์งานวิจัยในหัวข้อ “The Best Performing CEO in the World” ในบทความนี้มีตารางแสดงรายชื่อ 100 CEO ที่มีผลงานการบริหารที่โดดเด่นที่สุดในโลก โดยวัดผลจากการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและธรรมาภิบาล ผลปรากฎว่าจาก 100 คนมีเพียง 19 คนเท่านั้นที่เป็นผู้ก่อตั้งกิจการ และผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ไม่มีใครเป็นผู้ก่อตั้งกิจการเลย

จากเนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะพอสรุปได้ว่า ผู้บริหารกิจการที่สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างโดดเด่น และมีการบริหารจัดการเป็นเลิศนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเสมอไป CEO ที่เป็นนัก บริหารมืออาชีพหลายคนก็มีความสามารถในการบริหารที่ดีมาก ผู้ก่อตั้งบริษัทบางคนอาจจะเก่งมาก แต่ก็มีอีกหลายคนที่บริหารงานผิดพลาด เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังสือสุดยอด Bestseller ด้านธุรกิจชื่อ “Good to Great” เขียนโดย Jim Collins ซึ่งกล่าวถึงลักษณะที่สำคัญของ CEO ผู้สร้างบริษัทที่เป็น “Great Company” ว่าเป็นผู้เห็นประโยชน์และความสำคัญขององค์กรมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีลักษณะไม่หยิ่ง ทนงในความสำเร็จ และเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่ง Collins ไม่ได้พูดถึงในประเด็นที่ว่าควรเป็นผู้ก่อตั้งดีกว่า หรือ เป็นมืออาชีพดีกว่า แต่เน้นเพียงว่า ผู้บริหารในระดับเลิศที่สุดนั้นมักก้าวพ้นเรื่องของ “อัตตา” หรือ “ตัวตน” มุ่งแต่ประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก กล่าวโดยสรุปคือ ไม่สำคัญว่าเป็นใคร มาจากไหน หากจิตใจสูงส่งเพียงพอ ย่อมนำมาซึ่งความสำเร็จของส่วนรวมได้เหมือนกัน

ที่มา : Thaivi
เจ้าของ หรือ มืออาชีพ? โดย ชาย มโนภาส(คนขายของ) เจ้าของ หรือ มืออาชีพ? โดย ชาย มโนภาส(คนขายของ) Reviewed by boss on 14:23 Rating: 5
ขับเคลื่อนโดย Blogger.