ผู้บริหารขวัญใจนักลงทุนต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ?
โดย road to billion
“เราจะประเมินผู้บริหารได้อย่างไร?” เป็นคำถามที่ผมเจอบ่อยที่สุดคำถามหนึ่งเวลาไปบรรยายเรื่องการลงทุน แต่คำตอบที่ผมให้มักจะไม่ค่อยครอบคลุม เพราะปัจจัยเชิง “คุณภาพ” เป็นอะไรที่ไม่ตายตัว ต้องอาศัยประสบการณ์เพื่อหาข้อสรุป ผมโชคดีมากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนหลายร้อยบริษัท ทั้งในไทยและต่างประเทศ ผมเห็นลักษณะคล้ายๆกันของผู้บริหารที่โดดเด่น เป็น “ขวัญใจ” ของนักลงทุน ซึ่งผู้บริหารเหล่านี้ก็มักจะทำให้บริษัท “โดดเด่น” และมีมูลค่าสูงกว่าบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน
1) เติบโตอย่างมีวิสัยทัศน์ บริษัทแต่ละบริษัทอาจจะอยู่ใน “วงจรการเติบโต” ที่แตกต่างกัน ถ้าบริษัทยังอยู่ในช่วงเติบโต หรือเลือกที่จะขยายธุรกิจในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต คอยมองหา s-curve ใหม่ๆอยู่ตลอด ก็จะทำให้ผลประกอบการมี “ลมหนุน” อย่างต่อเนื่อง ถ้าการแข่งขันไม่ได้รุนแรงมากก็ยังจะสามารถประคับประคองผลประกอบการให้เพิ่มขึ้นได้ แบบไม่เหนื่อยมาก
แต่สำหรับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” ก็จำเป็นต้อง “ดิ้น” ธุรกิจเดิมเจอทางตันก็พยายามจะเปลี่ยน แต่บางครั้งเป็นการดิ้นแบบไม่มีวิสัยทัศน์เช่น ธุรกิจเดิมมีอัตรากำไรที่ดี มีความได้เปรียบในการแข่งขันอยู่แล้ว แต่กลับไปขยายธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้าง “story” ให้กับนักลงทุน อย่างกลุ่มธุรกิจพลังงานทางเลือกซึ่งหลายบริษัทก็ไม่ได้มีพื้นฐานหรือความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจมาก่อน เจอแบบนี้ นักลงทุนก็ควรจะระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะในที่สุดการขยายธุรกิจแบบนี้ จะเป็นการทำลายมูลค่าของธุรกิจในระยะยาว
2) รักษาสมดุลระหว่างกำไรระยะสั้นและแผนการเติบโตในระยะยาว
ผู้บริหารเก่งๆที่มีวิสัยทัศน์มักจะเตรียมแผนการเติบโตของบริษัทไว้ล่วงหน้า 5-10 ปี แต่บางครั้งการเติบโตระยะยาวต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลเชิงลบต่อผลประกอบการในระยะสั้น เช่น การลงทุนในระบบ IT การสร้างโรงงานใหม่เพื่อรองรับการเติบโต การใช้เงินลงทุนไปกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การขยายตลาดไปยังต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามหลายบริษัทลงทุนแบบ “เกินตัว” เช่น บริษัทกำไรปีละ 30 ล้าน แต่ไปลงระบบ IT มูลค่า 300 ล้าน ถ้าสมมติว่าตัดค่าเสื่อม 10 ปี เท่ากับว่ากำไรของบริษัทจะหายไปไม่เหลือเลยจากการลงระบบ IT เพียงครั้งเดียว ถึงอาจจะเป็นผลดีต่อบริษัทในระยะยาว แต่ก็อาจจะสุดโต่งเกินไป และมีผลต่อราคาหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แต่ในกรณีแบบนี้บางครั้งผู้บริหารแก้เกมส์โดยการเลือกที่จะรับผิดชอบต่อผลประกอบการในระยะสั้นด้วยตัวเอง ตัวอย่างเช่น บริษัทเครื่องดื่มแห่งหนึ่งมีแผนจะขยายไปประเทศจีน ซึ่งช่วงแรกต้องใช้งบในการโฆษณาและส่งเสริมการขายจำนวนมาก ทำให้บริษัทย่อยขาดทุนหนัก ผู้บริหารจึงตัดสินใจใช้เงินลงทุนส่วนตัวลงทุนก่อน และค่อยขายบริษัทคืนให้ในอนาคต ถ้าสุดท้ายแล้วราคาที่ขายคืนไม่ได้แพงเกินไป ก็ถือว่าเป็นดีลที่ดีมากๆสำหรับผู้ถือหุ้นทุกท่าน
3) มองที่กำไรต่อหุ้น หลายๆบริษัทมองแต่ยอดขาย อยากจะเติบโต อยากจะได้ Market Share อยากจะเป็นเบอร์ 1 แต่ต้องแลกมากับการห้ำหั่นทางราคาที่สุดท้ายแล้วก็เสียผลประโยชน์กันทุกฝ่าย ผู้บริหารแบบนี้ไม่เข้าใจว่าราคาหุ้นจะสะท้อนตามกำไรต่อหุ้น (Earning Per Share) ไม่ใช่ยอดขาย ถึงแม้บางครั้งการแย่ง Market Share เพื่อให้ได้ Economy of scale หรือเพื่อกำจัดคู่แข่งเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ควรจะใช้ในการทำธุรกิจในระยะยาว
ในอีกมุมหนึ่ง หลายบริษัทอยากจะทำให้กำไรสุทธิเติบโต โดยการเข้าไปซื้อกิจการ ลงทุนขยายกำลังการผลิต โดยไม่พิจารณาผลตอบแทนของโครงการให้ดี ทำไปแล้วกำไรสุทธิเติบโต แต่ไม่คุ้มกับเงินลงทุน บางครั้งก็ต้องเพิ่มทุน จำนวนหุ้นก็เพิ่มขึ้นมาก ทำให้กำไรต่อหุ้นลดลง ในทางกลับกัน ผมจะชอบมากๆเวลาผู้บริหารพูดว่า “ผมไม่สนใจยอดขาย ผมสนแค่กำไร(ต่อหุ้น)” ใจตรงกันแบบนี้ ชอบ!
อย่างไรก็ตามผู้บริหารที่จะเป็น “ขวัญใจ” ของนักลงทุนได้ นอกจากจะต้องมีกลยุทธ์การเติบโต ที่จะช่วยให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงแล้ว ยังจำเป็นต้องมีทัศนคติ แนวคิด และการสื่อสารให้กับนักลงทุนอย่างตรงไปตรงมา
4) มองนักลงทุนรายย่อยเป็น “หุ้นส่วนธุรกิจ” ผู้บริหารที่ใส่ใจนักลงทุนรายย่อย จะมีโครงสร้างและรูปแบบการบริหารงานที่ชัดเจน เท่าเทียมกัน ถ้ามีบริษัทลูกก็จะให้บริษัทแม่ถือหุ้น 100% ไม่ใช่เอาบริษัทของกลุ่มที่เกี่ยวข้องมาถือด้วย และก็จะไม่มีดีลแปลกๆ เช่นการออก Private Placement ที่ราคาต่ำกว่าราคาตลาดมากๆ เอาเงินของบริษัทไปให้บริษัทของกลุ่มผู้บริหารกู้ยืม หรือนำเงินไปซื้อกิจการของผู้ถือหุ้นใหญ่ในราคาแพงๆ
ผมเคยไปประชุมผู้ถือหุ้นแล้วเคยเจอผู้บริหารท่านหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าไม่ชอบสไตล์การทำงานของผม ก็ขายหุ้นทิ้งไป” ถึงแม้ว่าผมจะเข้าใจอุปนิสัยในการทำงานของผู้บริหารท่านนี้ แต่ก็อดนึกไม่ได้ว่าทำไมผู้บริหารท่านนี้ถึงขาดความเข้าใจในตลาดทุนถึงเพียงนี้ ถ้าท่านพยายามเอาใจใส่นักลงทุนรายย่อย ทำในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นรายย่อย สุดท้ายแล้วนักลงทุนก็จะให้ “มูลค่า” ของบริษัทที่สูงขึ้น ความมั่งคั่งของเจ้าของและโอกาสในการลงทุนใหม่ๆก็มากขึ้น
5) สื่อสารกับนักลงทุนอย่างตรงไปตรงมา ในการตัดสินใจลงทุนในหุ้นซักหนึ่งตัว นักลงทุนต้องพึ่งพาข้อมูลจากผู้บริหารในการตัดสินใจเป็นอย่างมาก แต่หลายบริษัท นำเสนอข้อมูลในด้านบวกเพียงด้านเดียว ไม่ได้พูดถึงความเสี่ยงที่ธุรกิจกำลังประสบอยู่ ทำให้นักลงทุนวิเคราะห์ผิดพลาด ยิ่งถ้าผู้บริหาร “บริหารความคาดหวัง” ไม่เป็น เวลาเริ่มมีปัญหา ยอดขายหรือผลกำไรมีแนวโน้มที่จะไม่ได้เป็นอย่างที่เคยพูดไว้ แต่ผู้บริหารก็ยังให้ภาพแบบโลกสวย พองบการเงินออกมานักลงทุนก็เกิดอาการ “เงิบ” เจ็บตัวกันไประนาว
ถ้าผลประกอบการออกมาไม่ดี ทำไม่ได้ตามเป้า ก็ควรชี้แจงเหตุผลตามจริง บางบริษัทถ้าตอนกำไรดีก็จะบอกว่าเป็นเพราะความสามารถของผู้บริหาร แต่ถ้ากำไรแย่ก็จะบอกว่าเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี บริษัทที่สื่อสารกับผู้ถือหุ้นแบบตรงไปตรงมาหาได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าเจอ ก็ถือว่าเป็นสุดยอดผู้บริหารที่เราอาจจะฝากอนาคตไว้ได้
6) พัฒนาตัวเองตลอดเวลา ผู้บริหารที่มีความสามารถต้องรู้ว่าตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปเร็วแค่ไหน ควรจะเข้าใจภัยคุกคามหรือ Threat ของธุรกิจและอุตสาหกรรม เช่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่าการเข้ามาแทนที่ของรถไฟฟ้าจะส่งผลต่อธุรกิจของบริษัทอย่างไร ธนาคารและสถาบันการเงิน ตอนนี้ก็ต้องศึกษาผลกระทบของ Fintech และ Blockchain เป็นอาจจะทั้งโอกาสและภัยคุกคามของธุรกิจ
แต่จากประสบการณ์ผมว่ามีผู้บริหารจำนวนมากยัง “ไม่ทันโลก” ยังคงยึดติดกับแนวทางการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ยึดติดกับความสำเร็จของผู้บริหารยุคบุกเบิก ถ้าผู้ถือหุ้นเจอผู้บริหารแบบนี้ก็ต้องระวัง เพราะธุรกิจอาจจะถูก “Disrupted” แล้วหายสาบสูญไปอย่างไม่รู้ตัว
ผมหวังว่าหลักการทั้ง 6 ข้อนี้จะช่วยให้นักลงทุนคัดเลือกผู้บริหารที่มีทั้งความสามารถและทัศนคติที่ถูกต้อง ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องมองที่ “ผลลัพธ์” มากกว่า “คำพูด” หลายครั้งที่ผมเจอผู้บริหารที่พรีเซนต์เก่ง ทำให้นักลงทุนแห่กันเข้าไปซื้อจนทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่พอผลประกอบการออกมาก็ “ดอย” กันทุกคน ในทางกลับกัน ผู้บริหารบางคนพูดไม่ค่อยเก่ง พรีเซนต์ได้น่าเบื่อ แต่ผลประกอบออกมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งทุกไตรมาส หุ้นแบบนี้มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าแบบแรกอย่างเห็นได้ชัด
แต่นักลงทุนก็ต้องตระหนักว่าผู้บริหารไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงอย่างเดียว ถ้าเราใช้ผู้บริหารชั้นยอด ไปบริหารธุรกิจชั้นแย่ สุดท้ายแล้วก็จะพังกันหมด สิ่งสำคัญไม่แพ้ผู้บริหารก็คือ โมเดลธุรกิจ ความสามารถทางการแข่งขัน ภาพอุตสาหกรรม และ ที่สำคัญมากๆคือการประเมินมูลค่าของกิจการ ถ้าเราสามารถวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ได้ครบถ้วน เราก็จะสามารถมองหาโอกาสทองในการลงทุนก่อนคนอื่นได้แน่นอน
credit : Thaivi
ผู้บริหารขวัญใจนักลงทุนต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ?
Reviewed by boss
on
02:00
Rating: