ใครได้อะไร หาก 'เซเว่น' กลายเป็น 'ตัวแทนธนาคาร'



วันนี้ (19 ก.พ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่าการแต่งตั้งตัวแทนธนาคารพาณิชย์หรือ Banking agent ที่จะให้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาเข้ามาให้บริการได้จะเริ่มต้นเดือนมีนาคมนี้ นักวิชาการชี้ตัวแทนธนาคารเหล่านี้จะเข้ามาให้บริการแทนที่ธนาคารที่ลดสาขาลงไป ช่วยธนาคารลดต้นทุน ประชาชนสะดวกมากขึ้น ในขณะที่เซเว่น อีเลฟเว่นปฏิเสธไม่ทราบเรื่องการเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่าในเดือนมีนาคมนี้ จะมีร้านที่รับฝากและถอนเงินในลักษณะที่เป็นแบงกิ้ง เอเย่นต์ ได้หลากหลายมากกว่าเดิม เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธปท.เพิ่งขยายประกาศเพิ่มเติมคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์ไป รวมทั้งให้ธนาคารสามารถแต่งตั้งตัวแทนได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาตกับ ธปท. เป็นราย ๆ ไป

"ต่อจากนี้ไปเราอาจจะเห็นการรับฝากและถอนเงินในลักษณะตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ จากร้านสะดวกซื้อ กองทุนหมู่บ้าน ร้านค้าชุมชน สหกรณ์ และอื่นๆ ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแต่ละแห่งจะทำธุรกรรมกับใคร และทำธุรกรรมใดได้บ้างนั้น ขึ้นกับกลยุทธ์ของธนาคารแต่ละแห่ง โดยเกณฑ์ใหม่นี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้หลังลงราชกิจจานุเบกษาในต้นเดือน มี.ค.นี้" นายสมบูรณ์กล่าวในระหว่างแถลงข่าว

ในประกาศใหม่มีสาระสำคัญ 2 เรื่องคือ 1. ขยายประเภทของตัวแทนฯ จากเดิมให้แต่งตั้งธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะของรัฐ และไปรษณีย์ เท่านั้น ขยายให้ครอบคลุมนิติบุคคล และบุคคลธรรมดาที่มีความเหมาะสมด้วย และ 2. ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งตัวแทนได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาตธปท.เป็นรายๆ เพื่อความคล่องตัวมากขึ้น แต่จะต้องมีประกาศอย่างชัดเจนให้ประชาชนทราบ และตัวแทนฯ จะต้องมีคุณสมบัติตามที่ ธปท.กำหนด รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวแทนฯ เช่นเดียวกับสาขาธนาคารพาณิชย์


ประกาศของธปท.นี้เองน่าจะเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์ที่พูดถึงแนวคิดที่ร้านค้าปลีกรายใหญ่ อย่าง เซเว่น-อีเลฟเว่น จะทำธุรกรรมแบบธนาคารพาณิชย์ได้

นายสมบูรณ์กล่าวว่า "ขอยืนยันว่า ในกรณีที่มีการแชร์ผ่านโลกโซเชียลว่า เซเว่น อีเลฟเว่น สามารถที่จะรับฝากถอนเงิน หรือทำธุรกรรมแบบธนาคารพาณิชย์ได้นั้น จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจคลาดเคลื่อน และในปัจจุบันนี้ธปท.ยังไม่มีแนวคิดที่จะเปิดให้มีการสมัคร หรือขอใบอนุญาตการตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่"

"การให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งตัวแทนการทำธุรกรรมนั้น เป็นการเพิ่มช่องทางและสร้างทางเลือกให้กับทั้งธนาคารพาณิชย์ และประชาชน ที่จะปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการ ซึ่งในอนาคตธนาคารพาณิชย์อาจจะมีการปิดสาขา หรือใช้ระบบอิเลกทรอนิกส์ และเทคโนโลยีมาให้บริการทางการเงินมากขึ้น" ผู้ช่วยผู้ว่าการอธิบาย

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ผ่านมามีการขอนุญาต ธปท. เพื่อขอแต่งตั้งนิติบุคคลเป็นตัวแทน ฯ เป็นกรณีพิเศษจำนวนหนึ่งจากหลายธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำหน้าที่รับชำระบิลเป็นหลัก เช่น เคาน์เตอร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเซเว่น อีเลฟเวน, บิ๊กซี , เทสโก้โลตัส หรือร้านสะดวกซื้ออื่น ๆ ไปแล้ว

ธนาคารได้ประโยชน์อย่างไร ?

ธปท. ระบุว่า การปรับปรุงกฎเกณฑ์นี้เป็นการช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในช่องทางบริการของธนาคารพาณิชย์ ตามการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีและพฤติกรรมการของลูกค้า

"ที่เป็นประโยชน์หลัก ๆ คือลดต้นทุนการเปิดสาขาใหม่ และช่วยให้ธนาคารใช้ประโยชน์จากสาขาที่มีอยู่ได้มากขึ้น การให้ร้านค้าที่มีบริการอื่นเสริมอื่นอยู่แล้ว สำหรับเขามันถูกกว่าที่จะต้องมาลงทุนหมดเลย" ดร.คณิสร์ แสงโชติ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทย

เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประกาศตั้งเป้าลดจำนวนสาขาให้เหลือ 400 จาก 1,153 สาขา รวมทั้งลดจำนวนพนักงานเหลือ 15,000 จาก 27,000 คน จนกลายเป็นที่ถกเถียงถึงอนาคตของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย

ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ใช่ธนาคารแห่งเดียวที่ปรับลดสาขาเพื่อรองรับพฤติกรรมของลูกค้าซึ่งหันมาใช้บริการทางออนไลน์มากขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มธนาคารชั้นนำในหลายประเทศที่ลดจำนวนสาขาลงอย่างต่อเนื่อง

จำนวนสาขาธนาคารพาณิชย์และเซเว่น-อีเฟลเว่น


หากเปรียบเทียบจำนวนสาขาธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ในเดือน ม.ค. 2561 กับ ม.ค. ปีที่แล้ว พบว่าจำนวนสาขาของธนาคารในประเทศลดลง 223 สาขาหรือคิดเป็น 3.18%

โดยธนาคารที่จำนวนสาขาลดลงสูงสุดได้แก่ กรุงไทย (ลดลง 93 สาขา) กสิกรไทย (73 สาขา) และธนชาต (66 สาขา) ถึงแม้บางธนาคาร อาทิเช่น ธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จะมีจำนวนสาขาขึ้นในช่วงเดียวกัน

ดร.คณิสร์ เชื่อว่าสิ่งที่หลายฝ่ายต้องพิจารณากันคือ ความปลอดภัยจากอาชญากรรมทางการเงิน เพราะแตกต่างจากการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ตามร้านค้าซึ่งมีที่มาที่ไปชัดเจน การฝากเงินผ่านตัวแทนจำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนตามมาตรฐานของธนาคาร เพื่อระบุที่มาที่ไปของเงินและป้องกันปัญหาการฟอกเงิน

จำนวนสาขาธนาคารพาณิชย์ในไทย

ผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างไร ?

"ในมุมของผู้บริโภค ยิ่งมีการแข่งขันมากเท่าไหร่มันก็ดีต่อเรามากเท่านั้น ตราบใดที่ผู้บริการใหม่ มีโอกาสแข่งขันและท้าชิงตำแหน่งผู้นำได้ โดยไม่ได้มีใครกุมอำนาจทุกอย่างไว้ทั้งหมด" ดร.คณิสร์ กล่าว

ดร.คณิสร์ กล่าวว่า ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแลจะต้องดูให้ครบถ้วนว่าไม่ได้เปิดช่องทางให้มีการเข้ามาควบคุมตลาดโดยคนใดคนหนึ่ง "เพราะการเงินนั้นสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจอยู่แล้ว และหากมีการผูกขาดตลาด และใช้อำนาจในทางที่ไม่ดีก็อาจทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคมได้เยอะ แต่แบงก์ชาติก็ระวังในส่วนนี้อยู่แล้ว"

ดร.คณิสร์ อธิบายว่า ในต่างประเทศก็มีการขยายช่องทางการเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าสู่ระบบธนาคารได้มากขึ้น อย่างเช่น อินเดีย ซึ่งมีความยืดหยุ่นทางธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์อย่างมาก

ในหลายประเทศในทวีปแอฟริกาซึ่งธนาคารมีจำนวนสาขาน้อย ธนาคารก็ใช้ไปรษณีย์เป็นตัวแทนให้ประชาชนทำธุรกรรมทางการเงิน หรือในสหรัฐฯ และยุโรป ลูกค้าก็สามารถถอนเงินจากบัญชีเมื่อจ่ายเงินด้วยบัตรที่แคชเชียร์ในซูเปอร์มาร์เก็ต


'เซเว่น' ได้ประโยชน์อย่างไร ?

หากร้านสะดวกซื้อกว่า 10,000 สาขาของ เซเว่น-อีเลฟเว่น ทำหน้าที่เป็นตัวแทนธนาคารจริง นอกจากรายได้ที่น่าจะได้จากค่าธรรมเนียมแล้ว ดร.คณิสต์ อธิบายว่า บริษัทก็สามารถรับเงินและผ่อนเงินได้มากขึ้น คล้ายกับในกรณีของ บริษัท อาลีบาบา ซึ่งเติบโตได้อย่างรวดเร็วเพราะมีโอกาสนำเงินที่รับมาไปลงทุนในส่วนอื่นก่อนที่จะส่งต่อให้ธนาคาร แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างบริษัทกับธนาคาร

เมื่อปี 2558 ได้เกิดกระแสบนโซเชียลมีเดียรณรงค์ให้ไม่เข้าร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นเวลา 5 วัน หลังจากมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกล่าวหาว่า บริษัท ซีพี เลียนแบบขนมชื่อ โตเกียวบานาน่าไทย และผลิตขนมคล้ายกันเพื่อจำหน่ายแทนที่สินค้าดังกล่าว และทำให้เสียงที่ระบุว่าซีพีผูกขาดและเบียดผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายเล็กให้ออกจากธุรกิจไปดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทางซีพีออลได้ปฏิเสธตลอดมาและกล่าวว่าร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นที่ผู้ประกอบการรายเล็กเป็นเจ้าของนั้นมีเป็นจำนวนมาก และที่จริงซีพีนั้นส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของรายเล็กต่างหาก

นอกจากนี้ก็เกิดเมื่อปี 2559 สื่อมวลชนรายงานว่า เซเว่น-อีเลฟเว่น ได้ยุติการขายบัตรเติมเงิน วัน-ทู-คอล ของ เอไอเอส หลังจากตกลงกันไม่ได้เรื่องอัตราค่าธรรมเนียม ซึ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอีกว่าก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้ง เซเว่น-อีเลฟเว่น และค่ายโทรศัพท์ทรูมูฟ ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ เอไอเอส

ข้อมูลจาก รายงานประจำปี 2559 ของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่ามีลูกค้าใช้บริการเซเว่น-อีเลฟเว่น กว่า 11.7 ล้านคนต่อวัน คิดเป็นรายได้ 278,246 ล้านบาท จาก 9,542 สาขา โดยมีทั้งร้านที่บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารเอง และ แบบแฟรนไชส์ ที่ให้บุคคลภายนอกร่วมลงทุนภายใต้ระบบของบริษัท

บีบีซีไทยติดต่อไปยังฝ่ายสื่อสารองค์กรของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งกล่าวว่าไม่ทราบถึงเรื่องการเป็นตัวแทนธนาคาร

อะไรบ้างที่ เคาท์เตอร์เซอร์วิส 7-11 "รับจ่าย" แทนหน่วยงานรัฐ


ที่มา : bbc

ใครได้อะไร หาก 'เซเว่น' กลายเป็น 'ตัวแทนธนาคาร' ใครได้อะไร หาก 'เซเว่น' กลายเป็น 'ตัวแทนธนาคาร' Reviewed by boss on 03:45 Rating: 5
ขับเคลื่อนโดย Blogger.